เมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาสุขภาพก็มักตามมาไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านความจำ อาการเหนื่อยล้า จะลุกจะนั่งก็ลำบาก เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ภาวะเปราะบาง ทำให้การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง บางครั้งก็มีปัญหาในการยืนหรือทรงตัว ซึงมักพบในผู้สูงอายุที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากไม่ดูแลตัวเองอาจเสี่ยงลื่นล้ม อาจกระดูกหัก และก่ออันตรายถึงชีวิตได้
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้สูงอายุ
กล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถพบได้บ่อยสุดในผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถเกิดขึ้นได้จาก
- มีอายุมากขึ้น ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
- ผู้สูงอายุไม่ค่อยใช้งานกล้ามเนื้อ หรือไม่ค่อยขยับตัว เช่น การออกกำลังกาย ทำให้มีมวลกล้ามเนื้อน้อย
- เป็นผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยพักฟื้นหลังผ่าตัด ซึ่งทำให้ไม่ค่อยได้ขยับตัว
- ผลข้างเคียงจากการรักษาโดยใช้ยาบางชนิด
- โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคหลอดสมองตีบตัน, เบาหวาน มะเร็ง โรคกระดูกพรุน โรคไตเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ
- ภาวะเปราะบาง
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงผู้สูงวัย มีอะไรบ้าง?
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงผู้สูงวัย มีอะไรบ้าง?
- ความแข็งแรงของร่างกายลดลง
- กำมือไม่ได้ ขยับมือไม่ค่อยได้
- มีอาการเหนื่อยล้า หายใจได้ลำบาก
- มีปัญหาในการเดิน หรือการทรงตัว
- การเคี้ยว กลืน หรือสื่อสารสามารถทำได้ยากขึ้น
- คนแก่ล้ม หรือหกล้มได้บ่อย
- ทำกิจวัตรประจำวันได้ยากขึ้น เช่น อาจช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง
- มีปัญหาในการเดินขึ้นหรือลงบันได
เช็คอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ผู้สูงอายุควรไปพบแพทย์
สังเกตอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่อาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากภาวะเปราะบาง หรือปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นตามอายุ แต่อาจหมายถึงโรคและอาการป่วยอื่นๆ โดยอาการที่ควรพบแพทย์ ได้แก่
- มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน
- รู้สึกชาที่แขนหรือขา โดยเฉพาะหากมีอาการชาแค่ซีกใดซีกหนึ่งอย่างเดียว
- ขยับใบหน้าไม่ได้ ใบหน้าเป็นอัมพาต มีอาการลิ้นแข็งพูดได้ไม่เป็นภาษา
- มีอาการเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อนกันในชั่วขณะหนึ่ง
- รู้สึกเจ็บที่กล้ามเนื้อ
- รู้สึกว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรงลง และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น
- มีอาการชักกระตุก
- รู้สึกเจ็บที่หน้าอก โดยเฉพาะตอนที่นอนราบ
- มีอาการผิดปกติ หลังจากที่เปลี่ยนการใช้ยา หรือการใช้ยาตัวเดิมในปริมาณที่มากขึ้น
- หมดสติ หรือไม่ได้สติ
หากผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้ควรพาไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายอย่างภาวะแทรกซ้อน ความพิการ และการเสียชีวิต โดยสามารถ โทรแจ้งสายด่วน 1669
วิธีป้องกันอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้สูงอายุ
อาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นหากใครที่อายุเริ่มมากขึ้นควรเริ่มดูแลสุขภาพของตนเองได้แล้ว เช่น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- การขยับตัว และออกกำลังกายอย่างเสมอ
- ระวังการสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีอันตราย
- ออกไปพบผู้คน หรือทำกิจกรรมบ้าง
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีนอย่างพอดี เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยเ้นรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา, เต้าหู้ นมถั่วเหลือง(ควรระวังเรื่องน้ำตาล), ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง แต่ถ้าหากคุณเป็นผู้ป่วยโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนเพื่อความปลอดภัย
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ไม่ควรงีบหลับหลังจาก 15.00 น. หรือช่วงเย็น เพราะอาจทำให้เวลาการเข้านอนแปรปรวน หรือนอนดึกขึ้น เนื่องจากปกตืผู้สูงอายุมักมีปัญหาการนอนหลับอยู่แล้ว
บทสรุป
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หากรู้ว่าตนเองมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาและดูแลได้อย่างตรงจุด อย่าปล่อยให้ ‘ภาวะ’ กลายเป็น ‘โรค’ เพราะหากเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ส่วนใครที่อายุมากขึ้นก็อย่าลืมหันมาดูแลตัวเองกันด้วยนะคะ เพราะอาเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ