คนแก่ล้ม อุบัติเหตุที่ควรระวัเพราะเสี่ยงต่อปัญหาหลายๆด้าน นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดแล้ว อาจทำให้เป็นคนป่วยติดเตียง พิการ และเสียชีวิต ซึ่งการที่ผู้สูงอายุล้มนั้นเกิดได้จากหลายๆปัจจัย ทั้งปัญหาจากสุขภาพ โรคประจำตัว ภาวะเปราะบาง และสภาพแวดล้อม แต่เราสามารถช่วยป้องกันปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุล้มได้ เช่น การจัดบ้านให้เป็นระเบียบ และการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรง เป็นต้น
เรื่องที่ควรรู้เพื่อรับมือเกี่ยวกับคนแก่ล้ม
คนแก่ล้มบ่อยๆ เกิดจากอะไร
การล้มถือเป็นอุบัติเหตุที่พบบ่อยมากๆในผู้สูงอายุ สาเหตุของการล้มสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยจะแบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลักๆ คือ
1. ปัญหาทางสุขภาพ
- โรคประจำตัว และการรับประทานยาบางชนิด ซึ่งมีผลต่อสติ อาจทำให้มึนงง หรือง่วงซึม
- ปัญหาเมื่อคนแก่ไม่มีแรงเนื่องจากร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะเปราะบาง ร่างกายอ่อนแอลง การรับรู้บางอย่างแย่ลง ความแข็งแรงของสภาพร่างกายก็น้อยลงตามอายุ
- มีมวลกล้ามเนื้อน้อย เพราะไม่ค่อยได้ขยับตัวหรือออกกำลังกาย
- กระดูกพรุน
- ร่างกายขาดวิตามินดี
- ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณเท้า
- ปัญหาทางสายตาและการมองเห็น
2. สภาพแวดล้อม
สถาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยมีผลอย่างมากต่อการทำให้ผู้สูงอายุเกิดการลื่นล้ม โดยจุดที่ผู้สูงอายุลื่นล้มบ่อยที่สุดคือห้องน้ำนั่นเอง สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุลื่นล้ม เช่น
- พื้นห้องน้ำลื่นจนเกินไป ไม่มีราวที่ใช้ในการจับ
- ข้าวของในบ้านวางอย่างไม่เป็นระเบียบ
- การเดินบนพื้นที่ต่างระดับ หรือเดินขึ้น-ลงบันได
- อยู่ในที่ที่มีไฟ หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ
อันตรายจากการลื่นล้ม
การหกล้มถือเป็นเรื่องต้องระวังเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะก่ออันตรายหลายอย่าง ตั้งแต่อาการบาดเจ็บ, กระดูกหักซึ่งกระดูกของคนแก่ก็ค่อนข้างเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว, ความพิการ, การเป็นผู้ป่วยติดเตียงทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ผู้ติดเตียงบางรายอาจมีปัญหาของสภาพจิตใจด้วยเพราะก่อนหน้านี้สามารถทำทุกอย่างด้วยตนเองได้ และบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย เช่น การลื่นล้มหัวฟาดพื้น
ทำไงดีเมื่อคนแก่หกล้ม
หากพบว่าคนแก่ล้ม อันดับแรกที่เราต้องทำคือการตั้งสติ และตรวจเช็คระดับของอาการ เพื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งทั้งนี้ต้องพิจารณาตามอาการของผู้สูงอายุ ดังนี้
กรณที่คนแก่ล้มแต่ยังรู้สึกตัวอยู่
หากมีผู้สูงอายุล้มแล้วมีสติ สามารถเดินเหินได้ปกติ และไม่ได้บาดเจ็บร้ายแรง ให้สังเกตุบริเวณบาดแผล เพื่อทำการปฐมพยาบาล ตามขั้นตอนดังนี้
- ทำความสะอาดบริเวณบาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด
- ประคบเย็น บริเวณที่เกิดแผลเพื่อให้เลือดหดตัวเลือดจะได้หยุดไหล
- ในวันถัดไปให้เปลี่ยนไปประคบอุ่นต่อเพื่อให้เลือดขยายตัว เพื่อช่วยลดอาการช้ำ
หากมีผู้สูงอายุแผลถลอกให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และใส่ยาทาแผล และคอยสังเกตุว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ ในกรณีที่มีแผลเยอะหรืออาการเจ็บปวดรุนแรงควรรีบพาไปพบแพทย์
กรณีที่คนแก่ล้มและมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือศีรษะกระแทกพื้น
หากพบว่าผู้สูงอายุหกล้มศีรษะกระแทกพื้น และไม่ได้สติควรรีบขอความช่วยเหลือโดยเรียกรถพยาบาลโดยด่วน เพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที และในขณะรอต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ควรไปขยับตัวผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็น
วิธีป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
1. พบแพทย์และตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อายุมากในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว รวมไปถึงผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพก็ควรตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงไม่กลายเป็นคนแก่ไม่มีแรง ตระหนักถึงสุขภาพ และป้องกันการเป็นโรคเรื้อรังอย่าง โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น
2. เข้ารับการตรวจสายตา
ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพสายตาอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เพราะปัญหาสายตานั้นนอกจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการลื่นล้มแล้ว ยังอาจทำให้ได้รับอุบัติเหตุอื่น เช่น การเดินข้ามถนน การการเดินชนสิ่งกีดขวาง
3. งดการดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์นั้นมีผลต่อสติ การที่คนแก่หรือผู้ที่อายุเยอะดื่มแอลกอฮอล์นั้นอาจก่อให้เกิดอาการมึนงง และขาดสติ ทำให้หกล้ม หรือประสบอุบัติเหตุได้ และยังไม่ดีต่อตับด้วย ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงยิ่งต้องระวัง
4. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
หากอายุมากแต่ดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดี ก็สามารถหลีกเลี่ยงการเป็นการเป็นคนแก่ไม่มีแรง และภาวะเปราะบางได้ ซึ่งสิ่งที่คนสูงอายุควรให้สำคัญก็คือการสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพราะผู้สูงอายุที่ชอบหกล้มมักเป็นผู้ที่มีปัญหาในการทรงตัวที่ไม่ดีเนื่องจาก ร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อน้อย ทางที่ดีควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน และออกกำลังกายแบบเพิ่มความทนทานผสมกับออกกำลังกายที่เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
5. การจัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย
การจัดบ้านให้เป็นระเบียบและปลอดภัย สามารถป้องกันการล้มให้ผู้สูงอายุได้ถึง 20% โดยเราสามารถทำได้ไม่ยากดังนี้
- จัดบ้านให้เป็นระเบียบ โดยจัดสรรข้าวของให้อยู่ในที่ๆสามารถหยิบจับได้ง่าย หรือในตู้ ไม่ควรวางข้าวของตามพื้น และระวังพวกสายไฟอาจขัดขาดและทำให้เกิดการล้มได้
- มีราวจับ เช่น ในห้องน้ำ อ่างน้ำ โถสุขภัณฑ์
- มีเก้าอี้ สำหรับให้ผู้สูงอายุใช้อาบน้ำ
- อย่าปล่อยให้บ้านมืด ควรติดไฟให้มีแสงสว่างที่เพียงพอ
- ติดสติกเกอร์กันลื่น หรือมีแผ่นกันลื่นติดในบริเวณห้องน้ำ
แบบประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการลื่นล้ม
หากมีความกังวลว่าผู้สูงอายุที่บ้านมีโอกาสเสี่ยงต่อการลื่นหกล้ม สามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ที่จัดทำโดยกรมควบคุมโรคได้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการระมัดระวังค่ะ โดยเมื่อเข้าไปก็จะมีให้กรอกข้อมูลเบื้องต้นอย่าง เพศ อายุ จังหวัด และแบบสอบถามอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยในการหกล้มค่ะ
สามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงการพลัดตกหกล้มได้ที่นี่
บทความที่น่าสนใจ