หาสาเหตุ ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเป็นออฟฟิศซินโดรม ทั้งที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว
โรคออฟฟิศซินโดรมถือเป็นโรคยอดฮิตที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานออฟฟิศจำนวนมาก ซึ่งโรคนี้สาเหตุหลักไม่ได้อยู่ที่ช่วงวัย แต่อยู่ที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากน้อยแค่ไหน เหตุผลที่ผู้ป่วยหนุ่มสาวมักเป็นโรคนี้เพราะว่า พฤติกรรมการทำงานของคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ได้สูงที่สุด
สาเหตุหลักของการเป็นออฟฟิศซินโดรม
สาเหตุหลักของการเป็นโรคนี้เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ซึ่งคนที่ทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ ชีวิตในการทำงานจะนั่งทำงานในท่าเดิมต่อเนื่องตลอดทั้งวัน จะลุกเดินไปไหนก็ลุกแค่ความจำเป็นเท่านั้น จึงเกิดการขยับตัวน้อย ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการยึดเกร็ง และเมื่อต้องทำพฤติกรรมนี้ทุกวันไปเรื่อย ๆ ผลสุดท้าย กล้ามเนื้อจะเกิดการอักเสบ และกลายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ใช้เวลาทำงานและนั่งอยู่หน้าจอคอมนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เป็นออฟฟิศซินโดรมได้ง่าย
นอกจากการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่กระตุ้นให้เป็นโรคนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการได้มากขึ้น ซึ่งมีทั้งปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การใช้อุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม และยังมีปัจจัยที่เกี่ยวกับร่างกายของแต่ละคนด้วย
1. ปัจจัยภายนอกที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม และใช้งานอุปกรณ์การทำงานอย่างไม่เหมาะสม
ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงานที่ไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกาย เช่น คนที่มีรูปร่างสูงเลือกใช้เก้าอี้และโต๊ะที่เตี้ย ทำให้ขณะนั่งทำงานต้องก้มหลังมากกว่าปกติ จึงเกิดความรู้สึกไม่สบายตัว เริ่มปวดคอและหลังได้ง่าย เมื่อใช้เป็นเวลานานก็ยิ่งเร่งให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงตำแหน่งจอคอมพิวเตอร์ การใช้เมาส์ คีย์บอร์ด และอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งหากเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์การทำงานและปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับรูปร่าง จะทำให้ลดความเสี่ยงลงได้
2. ปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพร่างกาย
– การมีความเครียดจากการทำงานมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อในมัดนั้นอยู่เป็นประจำ
– การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการปรับสมดุลอย่างมีคุณภาพได้
– การได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ทำให้ร่างกายไม่รับการบำรุงซ่อมแซมในส่วนต่าง ๆ
– การทานอาหารไม่ตรงเวลา
– การไม่ยอมออกกำลังกาย ไม่ขยับเพื่อยืดกล้ามเนื้อในระหว่างวัน
หากไม่อยากป่วยเป็นออฟฟิศซินโดรม การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งภายนอกและภายในร่างกาย จะทำให้ลดความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ง่ายที่สุด ถ้ามีการปรับการใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน เมื่อรู้แล้วว่าสาเหตุของออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง และปัจจัยใดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค ควรเลิกทำพฤติกรรมเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีและทำให้ชีวิตของการทำงานเต็มไปด้วยความสุข