อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์ด่วน เพราะมีความเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
หลายคนคิดว่าอาการปวดเมื่อยตามร่างกายเป็นเรื่องปกติ หากปวดไม่มากก็เลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการซื้อยามาทาและนวดเบา ๆ ในจุดที่ปวด แต่ถ้าปวดมากก็จะซื้อยามากินแทน โดยที่ไม่ยอมไปหาหมอเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริง เพราะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอก็หายได้ แต่ใครจะรู้ว่าอาการปวดตามจุดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด เพราะอาจจะหมายถึงอาการของโรคบางอย่างได้เหมือนกัน และบางครั้งการปล่อยไว้เป็นเวลานาน ก็อาจจะยิ่งทำให้มีอาการหนักเกินกว่าจะรักษาให้หายได้ เช่น การเป็นออฟฟิศซินโดรมที่คนส่วนใหญ่จะรู้ตัวช้า และสุดท้ายก็กลายเป็นโรคเรื้อรังที่ยากจะรักษาให้หายขาด
เช็กอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม มักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อในหลายจุดในเวลาเดียวกัน จนทำให้หลายคนไม่สามารถระบุได้ว่า ในตอนนี้กำลังปวดส่วนไหนของร่างกาย โดยรวมแล้วจะเป็นการปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง ขา และตามข้อมือ ซึ่งเมื่อปล่อยไว้นาน ๆ จะทำเริ่มมีอาการชาตามขาและข้อมือ จนเกิดอาการนิ้วล็อก นอกจากนี้ยังทำให้ปวดศีรษะและมีอาการเวียนศีรษะอยู่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลานาน และยังส่งผลให้มีอาการตาล้า พร่ามัวได้ด้วย
หากใครที่มีอาการทั้งหมดนี้ หรือเริ่มมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งการไปพบแพทย์จะเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง และไม่เป็นการปล่อยให้อาการหนักจนรักษาหายยาก เพราะออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่มีความทรมานต่อร่างกายอยู่ตลอดเวลา ทั้งอาการปวดที่เพิ่มมากขึ้น จนบางคนเป็นหนักถึงขนาดที่ไม่สามารถขยับร่างกายบางส่วนได้ในบางเวลา ทำให้ไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น
เมื่อเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมต้องมีการรักษาอย่างไร
แนวทางการรักษาโรคนี้จะมีอยู่ 5 วิธีที่ได้รับความนิยม แต่ทุกวิธีที่ใช้รักษาจะเป็นการช่วยให้ดีขึ้นแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่มีวิธีที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เมื่อกลับมาทำพฤติกรรมเดิมก็มีโอกาสกลับมามีอาการได้ตลอดเวลา การรักษาจึงต้องใช้ระยะเวลา และจะช่วยบรรเทาอาการไม่ให้มีความรุนแรงเท่านั้น 5 วิธีที่นิยมในปัจจุบันก็คือ
- การยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำในทุกวัน หรือทุกครั้งที่รู้สึกปวดตามจุดต่าง ๆ
- การทำกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ
- การนวดแผนไทย
- การฝังเข็ม
- การทานยาตามแพทย์สั่ง
หากอยากหายขาดจากโรคนี้จริง ๆ สิ่งที่ต้องทำอย่างเคร่งครัดก็คือ การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต โดยการไม่ทำสิ่งที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดของโรค เช่น การปรับการใช้ชีวิต จากเมื่อก่อนไม่เคยออกกำลังกาย ไม่เคยยืดกล้ามเนื้อ ก็ลองยืดกล้ามเนื้อทุกวันเป็นประจำ หรือในด้านการทำงาน จากเมื่อก่อนที่ใช้เก้าอี้ โต๊ะทำงานอย่างไม่ถูกวิธี ให้รีบเปลี่ยนเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสมกับร่างกาย ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา หากรู้สึกปวดเมื่อยไม่ควรฝืนนั่งทนทำงานต่อไป ให้ลองพักจากการทำงาน แล้วเดินออกไปทำกิจกรรมอื่น เช่น เดินไปเข้าห้องน้ำ เดินออกไปสูดอากาศข้างนอก เดินไปชงเครื่องดื่ม เพื่อให้ร่างกายได้เปลี่ยนอิริยาบถช่วงเวลาสั้น หรือจะยืดเหยียดกล้ามเนื้อง่าย ๆ ที่โต๊ะทำงานก็ได้เช่นกัน