5 วิธีป้องกันภาวะโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุ

5 วิธีป้องกันภาวะโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุ

ผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ด้วยปัจจัยต่าง ๆ หลายประการที่มีแนวโน้มให้เกิดความรู้สึกที่นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั้น ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคนี้

ดั้งนั้นทุกคนควรรู้จักกับภาวะโรคซึมเศร้าว่าเป็นอย่างไร และ 5 วิธีที่จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุเกิดภาวะซึมเศร้าได้นั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง

ทำความรู้จักกับภาวะโรคซึมเศร้า ที่ใคร ๆ ก็มีโอกาสเป็นได้

โรคซึมเศร้า คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน และสารสื่อประสาทภายในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ดี เช่น เฉยชากับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ยินดียินร้าย ไม่มีความสุข

ในบางรายมักมีอารมณ์ฉุนเฉียว เก็บตัวไม่เข้าสังคม นอนไม่ค่อยหลับ เกิดความเครียดได้ง่ายและบ่อยกว่าคนทั่วไป บางรายร้ายแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายก็มี เป็นโรคที่หากใครเป็นจะต้องรีบไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินอาการและรีบหาวิธีรักษา เพื่อปรับฮอร์โมนสารเคมีในสมองให้กลับมามีความสมดุลดังเดิม

5 วิธีสำหรับใช้ป้องกันภาวะโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุ

สำหรับผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุนั้น เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาหรือความกดดันต่าง ๆ ที่ตัวผู้ป่วยเองต้องเผชิญ เป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการอยู่มาก ๆ เพราะไม่เพียงต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพร่างกายที่เสื่อมสภาพลงเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับปัญหาในแง่ของความรู้สึก สภาพจิตใจที่บอบช้ำจากความคิดวกวน หรือรู้สึกน้อยใจในโชคชะตาที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือใช้ชีวิตประจำวันเองได้เช่นเดิม ไม่นับรวมถึงความเครียดในเรื่องของการต้องหาเงินมาคอยรักษา และค่าใช้จ่ายในการดูแลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอีกด้วย

ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุจึงควรใส่ใจดูแลท่านเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ท่านเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มอีกหนึ่งโรค โดยอาจจะใช้วิธีการดังต่อไปนี้

1. ให้ความมั่นใจ เป็นพื้นที่สบายใจให้กับผู้ป่วย

ผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุมักมีความกังวลและกลัวจะเป็นภาระของครอบครัว รวมถึงกลัวถูกทอดทิ้ง ดังนั้นผู้ดูแลต้องหมั่นพูดคุยให้ความมั่นใจว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะคอยดูแล เคียงข้างกันไปจนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความวิตกกังวล และเกิดความมั่นคงทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น

2. หากิจกรรมทำร่วมกัน ช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย

เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองสะดวกนัก ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ง่าย ผู้ดูแลอาจจะหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันกับผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุได้ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือเล่นเกมเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย

3. หาเวลาพาไปเที่ยว เปิดหูเปิดตา เปลี่ยนบรรยากาศ

หากมีเวลา หรือมีความสะดวก ผู้ดูแลอาจจะพาผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุออกไปเที่ยว เปิดหูเปิดตา หรือแม้แต่แค่การรับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัวนอกบ้านบ้าง ก็จะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดี ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแบบที่เคยเป็นมาได้

4. หมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุว่า ในแต่ละช่วงเวลา มีอารมณ์ ความรู้สึก และสภาพจิตใจเป็นอย่างไร หากพบว่ามีความเครียด มีอารมณ์ฉุนเฉียวในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ต้องหมั่นคอยถามไถ่ แสดงความห่วงใยใส่ใจ เพื่อให้ท่านไม่รู้สึกว่าต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง

5. พาผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุเข้าขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ผู้ดูแลอาจจะพาผู้ป่วยเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะ ๆ เพราะบางอย่างผู้ดูแลอาจจะไม่สามารถเข้าใจผู้ป่วยได้ทั้งหมด จำเป็นจะต้องพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่าคอยให้คำแนะนำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุอย่างเต็มความสามารถแล้ว ก็อย่าลืมใส่ใจดูแลความรู้สึกตนเองด้วย เพราะนอกจากตัวผู้ป่วยเอง คนที่มีภาวะความเครียดและความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าสูงอีกคนก็คือตัวผู้ดูแลเอง ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง และหากพบว่าเริ่มมีปัญหา ก็ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ๆ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top