7 ข้อควรรู้ หากไม่อยากให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยติดเตียง
ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มคนที่มีภาวะเสี่ยงสูงมากที่จะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หากให้การดูแลเอาใจใส่ไม่ดีเพียงพอ เพราะผู้สูงอายุนั้นมีสภาพร่างกายที่เสื่อมสภาพลง ไม่แข็งแรง ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเก่า เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย จึงต้องคอยระมัดระวังไม่ให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะเสี่ยง ที่จะนำพาให้กลายไปเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องรู้ก็คือ ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่มีโอกาสทำให้ผู้สูงอายุป่วยติดเตียง
3 ปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
1. อุบัติเหตุรุนแรง จะทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ป่วยติดเตียง เช่น ได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านสมอง กระดูกสันหลัง เนื่องจากในวัยผู้สูงอายุการฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมามีสุขภาพแข็งแรงดังเดิม จะทำได้ยากกว่าในวัยอื่น ๆ
2. โรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า ในผู้สูงอายุบางรายที่มีปัญหาสุขภาพ อาจจะทำให้กลายไปเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
3. ความเสื่อมถอยของร่างกาย เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร่างกายที่ถูกใช้มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้โอกาสในการเสื่อมสมรรถภาพ ไม่สามารถใช้งานได้ดีเหมือนเดิม ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้
7 ข้อควรรู้ ป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
เมื่อทราบปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้ผู้สูงอายุป่วยติดเตียงกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูข้อควรรู้ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุป่วยติดเตียงกันบ้าง โดยสามารถทำได้ดังนี้
1. ดูแล และระมัดระวังไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
2. หมั่นพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ไม่เฉพาะแค่ติดตามอาการหรือโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิมเท่านั้น แต่ยังควรพาผู้สูงอายุตรวจร่างกายให้ละเอียดในทุก ๆ ด้านที่คิดว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับวัยสูงอายุ
3. ดูแลเรื่องอาหารการกิน ทำให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุจะได้รับโภชนาการที่ดีอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายนำสารอาหารเหล่านั้นไปบำรุงร่างกาย ช่วยซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอ ชะลอความเสื่อมของร่างกายลงให้ได้มากที่สุด
4. ให้ผู้สูงอายุรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อช่วยเสริมสารอาหารกับร่างกายอย่างตรงจุด เช่น แคลเซียม วิตามินดี วิตามินรวม เป็นต้น
5. หมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุ หากพบว่ามีความผิดปกติ เช่น พูดได้ช้าลง เคลื่อนไหวได้ช้าลงกว่าปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพให้ละเอียดทันที
6. ให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจจะเลือกวิธีการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น การเดิน การว่ายน้ำ เป็นต้น การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย
7. หางานอดิเรกให้ผู้สูงอายุทำ เพื่อให้มีความกระฉับกระเฉง ไม่เซื่องซึม จะได้ลดความเสี่ยงของการป่วยติดเตียงลงได้
ทั้ง 7 วิธีที่นำมาแนะนำนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำยากเลย และหากทำตามได้ครบทุกข้ออย่างสม่ำเสมอ จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุในครอบครัวต้องป่วยติดเตียงได้