5 วิธีรับมือกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคร้ายในกลุ่มของโรคสมองเสื่อมที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในด้านความทรงจำ ความรู้สึกนึกคิด การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัว ส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ฉุนเฉียว กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย มีอาการย้ำคิดย้ำทำ และหวาดระแวง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นจะเป็นการดีที่สุดหากทราบอาการในระยะต่าง ๆ ของโรคอัลไซเมอร์ เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุในครอบครัวว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่
3 ระยะที่สังเกตได้ของโรคอัลไซเมอร์
1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยอาจจะเริ่มมีอาการลืมสิ่งของ หรือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นาน เช่น ลืมว่ากินข้าวหรืออาบน้ำหรือยัง จู่ ๆ ก็ลืมว่ากำลังจะทำอะไร กำลังจะไปไหน หรือกระทั่งลืมวันเวลา เป็นต้น อาการในระยะนี้หากไม่สังเกตดี ๆ อาจจะรู้สึกว่าเป็นการลืมแบบคนปกติทั่วไป แต่ต่างกันตรงที่มักลืมบ่อยครั้งติดต่อกัน และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
2. ระยะกลาง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการที่รุนแรงขึ้นกว่าในระยะเริ่มต้น นอกเหนือจากการลืมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นบ่อยมากขึ้น จะเริ่มจำสิ่งสำคัญ ๆ ไม่ได้ เช่น ที่อยู่บ้าน วันสำคัญต่าง ๆ ของคนรักและครอบครัว ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไร้สาเหตุ เช่น หงุดหงิดง่าย พูดจาหยาบคายกับคนรอบข้าง มีความหวาดระแวง กลัวว่าจะมีคนมาทำร้าย เป็นต้น
3. ระยะรุนแรง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง ไม่สามารถทำกิจวัตรพื้นฐานได้ด้วยตัวเอง เช่น การรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ การสื่อสารกับคนรอบข้าง และจะมีอาการหลงลืมหนักมากขึ้น จำไม่ได้แม้กระทั่งคนในครอบครัว จะค่อย ๆ มีอาการเซื่องซึม ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้สุขภาพร่างกายยิ่งเสื่อมถอย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย
5 วิธีในการรับมือกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดี
1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะจะช่วยให้คุณสามารถสังเกตอาการต่าง ๆ และรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วยได้ดีขึ้น หรือเรียกว่า “รู้เขารู้เรา” การทราบข้อมูลโรคและผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยให้คุณเข้าใจกับสภาพอารมณ์ของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
2. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเอื้อต่อการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีความบกพร่องในเรื่องของการดูแลตนเอง บางครั้งอาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดอันตราย ผู้ดูแลจึงควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปราศจากสิ่งเร้า หรืออาวุธที่ผู้ป่วยจะทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้
3. สนับสนุนให้ผู้ป่วยได้มีกิจกรรมส่งเสริมความจำ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย เพราะกิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะหลงลืมไปแล้วกลับคืนมา
4. หมั่นสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ใช้เวลาด้วยกันให้มากที่สุดอย่างมีคุณภาพ การให้ความรักและความเข้าใจอย่างจริงใจและสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่กับผู้ดูแล จึงช่วยลดความวิตกกังวล และความเครียดที่เกิดขึ้นได้
5. ดูแลให้ผู้ป่วยทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า โรคนี้มีแต่วิธีการชะลออาการไม่ให้เป็นหนักมากขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์ที่ดูแลจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย
อย่างไรก็ตามนอกจากดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์แล้ว ผู้ดูแลก็ควรจะใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตัวเองให้ปกติอยู่ตลอดเวลา หากเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหาความเครียด ปัญหาสุขภาพ อาจจะหาคนมาผลัดเปลี่ยนช่วยดูแล เพื่อให้ตัวเองได้มีเวลาพักบ้าง ก็จะทำให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะยาวได้อย่างมีความสุข