How to เรียนรู้วิธีการดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุข
ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และคนที่มีบุญคุณกับเรา เป็นสิ่งที่พึงยึดถือปฏิบัติ และเป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เชื่อกันว่าคนที่รู้จักแทนคุณคนนั้น มักจะมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สังคมไทยส่วนมากอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ คนในครอบครัวให้ความช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในครอบครัวที่เปรียบดั่งพระในบ้าน ซึ่งทุกคนต่างก็ให้ความเคารพและให้การดูแลอย่างดีที่สุด เพื่อให้ร่มโพธิ์ในบ้านใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข
เรียนรู้สภาวะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางสุขภาพร่างกายและจิตใจในผู้สูงอายุ
หลาย ๆ คนในครอบครัวหมั่นใส่ใจหาความรู้ ศึกษาแนวทางที่จะทำให้สามารถดูแลผู้สูงอายุในบ้านให้ได้ผลดี โดยบทความนี้ได้นำเอาข้อมูลเบื้องต้นในการทำความเข้าใจถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางสุขภาพร่างกายและจิตใจในผู้สูงอายุ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมรับมือกับการดูแลผู้สูงวัยในบ้านให้มีความสุขมากที่สุด
1. ปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย
– ความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เสื่อมถอย
– ระบบการทำงานของร่างกายในด้านต่าง ๆ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม เช่น ปัญหาระบบประสาท หัวใจ หลอดเลือด ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร เป็นต้น
– สมรรถภาพของอวัยวะรับความรู้สึกหลากหลายด้านลดลง เช่น ตาฝ้าฟาง หูตึง การรับกลิ่นทางจมูกและต่อมรับรสในปากมีปัญหา เป็นต้น
– การเปลี่ยนแปลงภายนอกร่างกายที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ความเหี่ยวย่นของผิวหนัง ผมหงอก หลังโกง เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องตัว
2. ปัญหาสภาวะอารมณ์และจิตใจ
– มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่ายกว่าปกติ อาจมีผลมาจากความเครียด หรือฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
– ขี้หลงขี้ลืม ย้ำคิดย้ำทำ ผู้สูงอายุหลายคนอาจกลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น รู้สึกไม่ได้ดั่งใจตลอดเวลา
– มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ กลัวถูกทอดทิ้ง ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวมากกว่าปกติ กลายเป็นคนขี้น้อยใจ
– ความจำเลอะเลือน ในผู้สูงอายุหลายท่านอาจจะเป็นหนักถึงขั้นเป็นโรคอัลไซเมอร์
เมื่อทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุแล้ว การหาวิธีป้องกันและรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นทำได้ไม่ยาก หากรู้แนวทางที่ถูกต้อง โดยในบทความนี้ได้นำเอาวิธีเรียนรู้และการดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุขมาฝากทุกท่านด้วย
How to ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้มีความสุข
1. หมั่นพาผู้สูงวัยไปตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
อย่ารอให้เกิดโรคหรือปัญหาทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ ต้องดูแลผู้สูงอายุแบบเชิงรุก คือพาท่านไปพบแพทย์เป็นประจำ ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อให้สามารถทราบสถานะปัจจุบันของสุขภาพโดยรวม เพื่อหาวิธีป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต เรียกง่าย ๆ ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” เพราะหากผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดีก็จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
2. ให้ความดูแลใส่ใจผู้สูงอายุเป็นพิเศษ
ว่ากันว่าเมื่อคนเราแก่ตัวลง มักจะกลับไปทำตัวเหมือนเด็ก ๆ ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ก็คือการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ให้เวลา อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของท่านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ท่านไม่รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำได้ นอกจากนี้ความรักความผูกพันที่มีจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ผู้สูงอายุอยากมีชีวิตอยู่กับลูกหลานต่อไปอีกนาน ๆ
3. ดูแลผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจ และใจเย็น
เมื่อทราบข้อจำกัด ปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้สูงวัยต้องเจอ ก็ขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ควรดูแลท่านด้วยความเข้าใจ ใจเขาใจเรา อะไรที่คิดว่าทำแล้วจะทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุขก็ควรหลีกเลี่ยง
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นำมาฝากนี้ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่าย ๆ และตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ หากนำเอาวิธีและแง่คิดต่าง ๆ นี้ไปใช้ ก็จะช่วยให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีกันทั้งครอบครัว