4 หลักจิตวิทยาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันประชากรในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ภาครัฐต้องหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับสังคมสูงวัยเพิ่มมากขึ้น เช่น นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการดูแล ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างมีความสุข เราไปดูกันดีกว่าว่า ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่มีโอกาสส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างที่เคย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข
1. ปัญหาสุขภาพรุมเร้า
ร่างกายคนเราไม่ใช่เครื่องจักรที่จะทานทนต่อการใช้งาน ย่อมมีเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ยิ่งในผู้สูงอายุด้วยแล้วย่อมมีปัญหาสุขภาพเข้ามารุมเร้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน หรือมะเร็ง การต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพนั้นอย่าว่าแต่ผู้สูงอายุเลย คนหนุ่มสาวเองก็คงไม่ชอบ และไม่มีความสุขกับการต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้
2. ฮอร์โมนร่างกายเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อความรู้สึก
เช่นเดียวกันกับปัญหาสุขภาพ ฮอร์โมนในร่างกายคนเราเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่สมดุลดังเดิม ส่งผลโดยตรงกับความรู้สึก การที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อาจจะทำให้กลายเป็นคนหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้มีอารมณ์ฉุนเฉียว และกลายเป็นคนไม่มีความสุขไปในที่สุด
3. ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
ในวัยเกษียณอายุสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ บทบาทหน้าที่ในการทำงานที่ต้องสิ้นสุดลง ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย สำหรับผู้สูงอายุบางท่านที่ยังไม่สามารถปรับตัวกับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ได้ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความเครียด และทำให้ชีวิตไม่มีความสุขตามมา
4 หลักจิตวิทยา ทำอย่างไรให้สามารถดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุข
1. อย่าทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเป็นภาระของคนอื่น
สิ่งที่วัยผู้สูงอายุบางคนกลัวเป็นอย่างมากก็คือ การต้องกลายเป็นภาระลูกหลาน หรือคนในครอบครัว ให้ต้องมาช่วยดูแล ดังนั้นหากต้องดูแลผู้สูงอายุ คนในครอบครัวจะต้องระวังเรื่องของการกระทำและคำพูดเป็นอย่างมาก อย่าให้เขารู้สึกว่าเขากลายมาเป็นภาระของผู้ดูแล เพราะจะส่งผลให้เกิดความเครียด เกิดความรู้สึกไม่มั่งคงในจิตใจ และไม่มีความสุข
2. ดูแลเขาด้วยความเคารพ และให้เกียรติกัน
ผู้สูงอายุทั้งหลายต่างก็เคยเป็นบุคคลที่เป็นเสาหลัก มีหน้าที่การงานที่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวได้ เมื่อวันหนึ่งที่เขาไม่ได้ทำงาน หรืออาจจะหารายได้เข้าบ้านได้ไม่เท่าเดิม คนที่ทำหน้าที่ดูแลก็ควรทำด้วยความรักและเคารพดังที่เคยเป็นมา พูดจาให้เกียรติท่าน ไม่แสดงกิริยาที่ส่อไปในทางดูถูกเหยียดหยาม ไม่เห็นคุณค่า เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจกับความสามารถที่มีไม่เท่าเดิม
3. ให้ความใส่ใจ หมั่นพูดคุย สอบถามความรู้สึก
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะขี้เหงา ต้องการคนคอยดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความรู้สึก ดังนั้นผู้ที่ดูแลก็จะต้องหมั่นพูดคุย สอบถามความรู้สึกของผู้สูงอายุว่ามีความต้องการอย่างไร เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการนั้นได้ ช่วยให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขยิ่งขึ้น
4. พยายามหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำเพื่อคลายเหงา
คนสูงอายุมักมีเวลาว่างเยอะ เพราะเกษียณจากการทำงานที่เคยทำมาตลอดทั้งชีวิต ดังนั้นจึงควรหากิจกรรม งานอดิเรกต่าง ๆ เช่น การเล่นหมากรุก พาไปเข้าสังคม ปลูกต้นไม้ ไปเรียนโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ พาไปเจอและทำกิจกรรมกับเพื่อนสูงอายุในวัยใกล้เคียงกัน เพื่อให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เหงาอีกต่อไป
แม้ว่าการดูแลผู้สูงอายุจะเป็นงานที่ทั้งหนักและเหนื่อย แต่เชื่อเถอะว่า หากเราใส่ใจในการดูแลเขามากเพียงพอ ทั้งเขาและเราก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และจะทำให้สังคมสูงอายุในประเทศไทยไม่น่ากังวลอย่างที่หลายคนจินตนาการไว้อีกด้วย