รู้หรือไม่ โรคข้อเสื่อมเป็นได้ทุกวัย ที่ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น
โรคข้อเสื่อม คือโรคที่มีอาการผิดปกติของกระดูกอ่อนต่าง ๆ เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อ ที่เสื่อมหรือถูกทำลายลง มีผลทำให้โครงสร้างของข้อเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผิดแปลกไปจากรูปเดิม เช่น มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ อันเป็นเหตุทำให้เกิดอาการปวดตามข้อ หรือบวมตามข้อต่าง ๆ
สาเหตุการเกิดของโรคข้อเสื่อม มีปัจจัยดังนี้
1. มีการใช้ข้อในบริเวณนั้น ๆ เป็นเวลานาน ทำให้ต้องรับแรงกดมากเกิน เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งขัดสมาธิ เป็นต้น
2. ถ่ายทอดจากพันธุกรรมของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีประวัติกระดูกอ่อนผิวข้อไม่ปกติ
3. น้ำหนักของตัวมาก ซึ่งการที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปนั้น ส่งผลทำให้เกิดแรงกดทับภายในข้อที่รับน้ำหนักตามส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นไปด้วย
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคข้อเสื่อมแล้ว
สามารถสังเกตง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยโรคข้อเสื่อมนั้นจะมีอาการเบื้องต้นคือ ปวดตามข้อที่กำลังใช้งานในขณะนั้น โดยอาจจะมีอาการบวม มีเสียงลั่นในขณะที่มีการเคลื่อนไหวข้อนั้น ๆ หรือสังเกตจากอาการกล้ามเนื้อรอบข้อลีบ รวมถึงอ่อนแรงด้วย
วิธีการรักษาโรคข้อเสื่อม
โดยมากแล้ว วิธีการรักษาจะแบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้
1. การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ผู้ป่วยที่ใช้วิธีนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีการสูญเสียการทำงานของข้อหรือถูกทำลายข้อในส่วนนั้น ๆ ไปแล้ว
2. การรักษาด้วยวิธีการทำกายภาพบำบัด เป็นการออกกำลังกายของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ โดยการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ มาช่วย และอาจจะประคบร้อนร่วมด้วย รวมถึงการนวดคลายกล้ามเนื้อ หรือการฝังเข็ม เป็นต้น
3. การรักษาด้วยการทายา การทายา การรับประทานยา และฉีดยาตามข้อต่าง ๆ จะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดบริเวณข้อนั้น ๆ จึงช่วยลดอาการบวมและการอักเสบได้
วิธีป้องกันตนเองจากการเป็นโรคข้อเสื่อม มีดังนี้
1. คุมน้ำหนักตัว โดยการควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในภาวะปกติ ไม่อ้วนเกินไป
2. ปรับสภาพแวดล้อมให้ไม่ทำร้ายข้อ ปรับสภาพแวดล้อม ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง เช่น ห้องน้ำควรใช้ชักโครกแทนการนั่งยอง พักการใส่ส้นสูงติดต่อกันหลาย ๆ ชั่วโมง เป็นต้น
3. ใช้อุปกรณ์ช่วยหากต้องการยกของหนัก ควรใช้อุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ ในการทำงาน หรือในการทำกิจกรรมที่ต้องยกของหนัก เช่น การยกของที่มีน้ำหนักเยอะ ๆ อาจต้องใช้เสื้อพยุงหลัง ร่วมกันยกกับเพื่อนร่วมงาน หรือใช้รถยก เป็นต้น
4. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อได้มีพละกำลัง และแข็งแรงมากขึ้น
5. ปรึกษาแพทย์ หากพบว่าตนเองเริ่มมีอาการไม่ปกติบริเวณข้อ ทันทีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณข้อต่าง ๆ ให้รีบพบแพทย์ด่วน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ จะส่งผลทำให้เกิดอาการข้ออักเสบขึ้นมาได้
ทั้งนี้ การที่เรารู้วิธีป้องกันและวิธีการรักษาโรคข้อเสื่อมเบื้องต้นแล้ว ก็ต้องนำไปปฏิบัติตามให้เป็นนิสัยด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงโรคข้อเสื่อมก่อนที่จะสายเกินแก้ เพราะหากอาการรุนแรงจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากขึ้น หรืออาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตามมา ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปอย่างถาวร