อาการหลงลืมและความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย ซึ่งนับว่าเป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ถ้าผู้ดูแลและลูกหลานหมั่นเอาใจใส่ในการดูแลอย่างถูกวิธี หากิจกรรมผู้สูงอายุทำเพื่อช่วยกระตุ้นสมองอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ วันนี้เราจะมาแนะนำกิจกรรมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ รีบทำตั้งแต่เนิ่น ๆ พัฒนาความจำ ลดสมองเสื่อมได้แน่นอน
.
การอ่านหนังสือที่เข้าใจง่าย
เป็นกิจกรรมเสริมทักษะง่าย ๆ ที่ผู้สูงอายุสามารถกระตุ้นสมองให้ทำงานและพัฒนามากขึ้น ทั้งในด้านการคิด วิเคราะห์ เพิ่มจินตนาการ ด้วยการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาง่าย ๆ เน้นภาพประกอบที่สวยงามดึงดูดใจ หากเป็นหนังสือที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็จะช่วยกระตุ้นความจำเก่า ๆ เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นได้ง่ายขึ้น
.
เล่นเกมฝึกสมอง
เราอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ผู้สูงอายุจะกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง” เพราะฉะนั้นการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ จึงต้องได้รับการดูแลอย่างใส่ใจเสมอ นั่นคืออย่าปล่อยให้สมองหยุดการเรียนรู้หรืออาจจะเล่นเกมฝึกสมองก็ได้ เช่น การบวกลบเลข ปริศนาอักษรไขว้ เกมทายคำ เกมทายชื่อ และเกมต่าง ๆ ที่ต้องใช้สมองขบคิด นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินแล้วยังเป็นการฝึกสมาธิให้กับผู้ป่วยอีกด้วย โดยเฉพาะการเล่นเกมฝึกสมองร่วมกับเพื่อนผู้สูงอายุวัยเดียวกัน จะช่วยส่งเสริมด้านการเข้าสังคมได้อีกทางหนึ่ง
.
ฟังเพลงหรือร้องเพลง
มีข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่พบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีการถดถอยด้านความจำและการทำงานอื่น ๆ ของสมอง แต่ก็ยังสามารถรับรู้เสียงดนตรีได้ ดังนั้นดนตรีจึงเปรียบเสมือนเป็นยาวิเศษที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ดี โดยจะมีการเชื่อมนำไปสู่กระบวนการคิดและความจำ ทำให้สามารถชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ ผู้ดูแลลองจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้ฟังเพลงและร้องเพลงอย่างสม่ำเสมอ ได้ทั้งพัฒนาทักษะสมอง กระตุ้นความจำ และได้รับความผ่อนคลายทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลไปพร้อมกัน
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ไม่ว่าจะอายุเท่าไรหรือช่วงวัยใดก็ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่สำหรับผู้สูงอายุจะเน้นการทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกายเบา ๆ อย่างถูกวิธีเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เพิ่มขึ้น 60 – 85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด จะช่วยกระตุ้นการสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
กรณีที่ผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์และมีอาการของหัวใจร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์หรือให้นักกายภาพบำบัดดูแลการออกกำลังกายอย่างใกล้ชิดทุกครั้ง เนื่องจากการออกกำลังกายหนักเกินไปหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอาจส่งผลให้อาการทรุดหนักได้
.
เข้าสังคมทำกิจกรรมที่ชอบ
สำหรับผู้สูงอายุที่ยังพอดูแลตัวเองได้และดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ ผู้ดูแลควรให้เขาได้เข้าสังคมเพื่อทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ พบปะพูดคุย เป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองให้ดีขึ้น อาจจะทำกิจกรรมเบา ๆ ที่ชื่นชอบ เช่น งานประดิษฐ์ รำไทเก๊ก ร้องเพลง เดินทางท่องเที่ยวที่ใกล้ ๆ เป็นครูอาสา รวมถึงการเลี้ยงหลานตัวเล็ก ๆ ก็ช่วยให้รู้สึกสดชื่น สมองมีชีวิตชีวาได้เช่นกัน
.
กิจกรรมผู้สูงอายุทั้ง 5 กิจกรรมที่เราแนะนำมานี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านความจำและการทำงานของสมอง เพื่อลดความเสี่ยงและลดอาการของโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความรักความดูแลเอาใจใส่ของคนในครอบครัว ซึ่งอาจจะต้องมีความใจเย็น อดทน และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่าผู้ป่วยโรคทั่วไป ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้