ปวดสะโพกร้าวลงขาเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ใช้ชีวิตนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ค่อยมีการเปลี่ยนอิริยาบถหรือขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันลำบากทั้งการเดิน นั่ง และนอน สร้างความเจ็บปวดแก่ร่างกาย ซึ่งมีการวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องกับการถูกกดทับเส้นประสาท อาจจะเป็นกระดูกเสื่อมกดทับเส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับ ส่งผลให้มีอาการปวดลงที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือมีอาการที่ขาทั้งสองข้าง
.
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นประสาทถูกกดทับ
เมื่อมองถึงโครงสร้างภายในของร่างกาย เส้นประสาทที่ถูกกดทับมีชื่อว่า Sciatica Nerve โดยมีจุดเริ่มต้นจากบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างช่วงเอวไปยังสะโพกด้านหลัง ต้นขาด้านหลัง น่องและเท้า ดังนั้นเมื่อมีส่วนใดที่มีความผิดปกติแล้วกดเบียดเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังช่วงล่าง หรืออาจจะเป็นแนวที่เส้นประสาทพาดผ่าน จะทำให้มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาตามแนวเส้นประสาทได้
.
สาเหตุของอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
อาการปวดสะโพกร้าวลงขาจะแบ่งอาการบาดเจ็บออกได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่ไม่ใช่มาจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาทเสมอไปดังนี้
- กลุ่มอาการปวดที่เกิดจากบริเวณหลัง
- โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (Herniated nucleus pulposus) เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนล่างรับน้ำหนักมากและเคลื่อนไหวเยอะกว่ากระดูกหลังส่วนอื่น ทำให้หมอนรองกระดูกแตกปลิ้นออกมากดเบียดเส้นประสาท จึงมีอาการปวดหลังช่วงเอวต่อกับสะโพกแล้วปวดร้าวลงขา อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ขาหรือปลายเท้าร่วมด้วย
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท หรือโรคช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis) หรือที่เรียกว่า “กระดูกทับเส้นประสาท” เกิดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ข้อต่อ และหมอนรองกระดูก ทำให้เกิดการทรุดตัวหรือมีกระดูกงอกจนเกิดการกดเบียดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ขาและจะมีอาการมากขึ้นเมื่อยืนหรือเดินสักพัก
- กลุ่มอาการปวดที่เกิดจากบริเวณหลัง
- กล้ามเนื้อแฮมสตริงอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกไปถึงหัวเข่า ทำให้มีอาการปวดบริเวณใต้ก้นลงมายังต้นขาด้านหลัง แต่จะปวดร้าวเฉพาะช่วงต้นขาด้านบนเท่านั้น แต่ถ้ามีการบาดเจ็บซ้ำบ่อย ๆ หรือรักษาไม่เหมาะสม จะทำให้มีอาการปวดต้นขาด้านหลังและข้อพับเข่าด้านหลังตึง รวมถึงปวดร้าวไปถึงน่องด้วย
- กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome) เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย แต่เมื่อกล้ามเนื้อ Piriformis เกิดความผิดปกติหรือมีพังผืดโดยรอบ อาจทำให้เบียดทับเส้นประสาท Sciatica Nerve จะทำให้มีอาการปวดหน่วง ๆ ตื้อ ๆ บริเวณสะโพกด้านหลังแล้วร้าวลงขาได้ และจะเป็นมากขึ้นเมื่อเดิน ยืน หรือนั่งนาน ๆ ดังนั้นการวินิจฉัยจึงต้องตรวจแยกจากโรคอื่นที่มีลักษณะอาการคล้าย ๆ กันออกไปก่อน เช่น โรคกระดูกเสื่อมกดทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เป็นต้น
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์
หากมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ให้หยุดกิจกรรมที่ทำนั้นทันทีแล้วรีบสังเกตอาการตัวเอง กรณีที่หยุดพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ขา ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที แต่ถ้าปวดหลังแต่ยังไม่ปวดสะโพกร้าวลงขา ให้หมั่นสังเกตอาการตัวเองด้วยเช่นกันว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแล้วหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
.
อาการปวดสะโพกร้าวลงขาเป็นกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยหรือคนกลุ่มเสี่ยงจะต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองอย่างละเอียด เพราะการทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ตามแล้วมองข้ามนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเหล่านี้ ด้วยการใช้งานให้ถูกสุขลักษณะ เดิน ยืน นั่ง ลุกในท่าที่ถูกต้อง เพื่อประคับประคองกระดูกสันหลังไม่ให้ทำงานหนักหรือเสื่อมสภาพก่อนถึงเวลานั่นเอง