กายภาพบำบัด หรือ Physical Therapy คือศาสตร์การฟื้นฟูสุขภาพร่างกายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยพักฟื้นหลังผ่าตัด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวหรือมีความบกพร่องทางร่างกาย ช่วยบรรเทาลดอาการเจ็บปวดและเสริมสร้างการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น
.
กายภาพบำบัดมีกี่ประเภท
การทำกายภาพบำบัดพื้นฐานมักจะใช้ร่วมกับการบริหารร่างกายหรือการออกกำลังกาย จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพและเสริมสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกายผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ กายภาพบำบัดแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
- กายภาพบำบัดกล้ามเนื้อ เป็นการกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยมีสาเหตุมาจากการใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ ตัวอย่างเช่นการนั่งหรือยืนทำงานท่าเดิม การเล่นกีฬาจนเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ
- กายภาพบำบัดหลอดเลือดและหัวใจ ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ จะมีการกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยตรวจร่างกายแล้วใช้เทคนิคหรือเครื่องมือเฉพาะ ซึ่งเน้นการกระตุ้นฝึกให้เริ่มเดินเร็ว การดูดเสมหะ การเคาะปอด และการจัดท่าอย่างถูกวิธี
- กายภาพบำบัดระบบประสาท เป็นการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางระบบประสาทจนไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตัวเอง เช่น การนั่ง การเดิน และการทรงตัว เป็นต้น โดยมีเป้าหมายการกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและฝึกควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
- กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ วัยนี้มักจะมีอาการปวดตามข้อและไม่มีแรงทำกิจวัตรประจำวัน เนื่องจากเกิดความสึกหรอหรือความเสื่อมของร่างกายตามวัย ดังนั้นการกายภาพบำบัดจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและทำให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น
- กายภาพบำบัดผู้ป่วยเด็ก เพื่อฝึกควบคุมการเคลื่อนไหวและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูระบบโครงสร้างของร่างกาย ช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองจนทำกิจวัตรประจำวันได้
วิธีกายภาพบำบัดด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ
การทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ควรมีเทคนิควิธีกายภาพบำบัดในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกวิธีและมีความถี่อย่างสม่ำเสมอ ร่างกายจึงจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาแข็งแรงปกติ โดยมีขั้นตอนกายภาพบำบัดด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ดังนี้
- ท่าบริหารข้อมือ เหมาะสำหรับคนที่ใช้ข้อมือทำงานเป็นเวลานาน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคพังผืดทับเส้นประสาท โดยทำการหมุนข้อมือทั้งสองข้างตามเข็มนาฬิกาสลับกับทวนเข็มนาฬิกา และควรบริหารข้อมือเป็นประจำ
- ท่าบริหารสะโพกและขา ช่วยลดอาการปวดสะโพก โดยใช้วิธียืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยวิธีนอนตัวตรง กางแขนออก ยกเข่าขวาขึ้นระดับสะโพกในขณะที่ขาซ้ายเหยียดตรง ยกค้างไว้ประมาณ 10 – 15 นาที ทำสลับข้างแล้วทำซ้ำ 2 – 3 เซ็ต
- ท่าบริหารข้อเท้า เหมาะสำหรับคนที่มีอาการข้อเท้าหลวมหรือประสบปัญหาข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นที่อยู่บริเวณโดยรอบแข็งแรงขึ้น ทำให้ข้อเท้ามีความยืดหยุ่น โดยนั่งราบกับพื้นแล้วเหยียดขาไปด้านหน้า ใช้เชือกหรือผ้าคล้องที่ปลายเท้าแล้วดึงปลายเท้าให้กระดกเข้าหาตัว
.
กายภาพบำบัดสำคัญอย่างไร ไม่ทำได้หรือไม่
ร่างกายที่มีความบกพร่องหรือมีอาการเรื้อรังบางอย่าง เช่น อาการปวดชนิดเรื้อรัง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและข้อติดแข็ง ถ้าไม่ได้รับการทำกายภาพบำบัดในช่วงที่มีอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ อาการต่าง ๆ จะเป็นเรื้อรังและต้องใช้เวลาการรักษานานมากขึ้น ดังนั้นกายภาพบำบัดจึงเป็นการรักษาแบบต่อเนื่องสำหรับภาวะอาการปวดเรื้อรังมานาน เพราะจะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อจนกระทั่งสามารถใช้งานได้ตามปกติ
.
เพื่อให้การทำกายภาพบำบัดนั้นได้ผลและมีประสิทธิภาพดี เราควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการใช้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ต้องมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด จึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก