โรคอัลไซเมอร์กับอาการขี้ลืมแตกต่างกันอย่างไร

อายุยังไม่มากเท่าไรแต่มีอาการขี้ลืมบ่อย ๆ อาจจะลืมของบ้างหรือลืมว่าจอดรถไว้ตรงไหน อาการเหล่านี้จะเข้าข่ายสมองเสื่อมหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ วันนี้คนขี้ลืมทั้งหลายรีบมาเช็คตัวเองกันเลยว่าเรากำลังมีอาการแค่ขี้ลืมหรือว่าเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ หรือว่าแบบไหนที่เรียกว่าอยู่ในภาวะสมองเสื่อม

.

โรคอัลไซเมอร์คืออะไร

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของการทำงานของสมองและอีกหลายสาเหตุ ทำให้ความคิด ความจำ และความสามารถด้านสติปัญญาลดลง รวมถึงอารมณ์กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

.

แต่ในทางการแพทย์กรณีอายุไม่ถึง 60 ปี จะไม่เรียกว่าภาวะสมองเสื่อม แต่อาจเป็น “โรคความจำผิดปกติชั่วขณะ” ซึ่งเกิดจากสมองได้รับความกระทบกระเทือยหรือปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ความทรงจำบางส่วนหลงลืมไปในช่วงเวลาหนึ่ง ในขณะที่ความจำเรื่องอื่น ๆ ยังเป็นปกติ

.

ความแตกต่างของอาการของโรคอัลไซเมอร์กับหลงลืมชั่วขณะ

อาการของโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ จะมีพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้

  1. หลงลืม ลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เช่น ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ลืมเหตุการณ์สำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ยังจดจำเรื่องในอดีตได้เป็นอย่างดี ลืมของเป็นประจำ จำคนใกล้ตัวไม่ได้แล้วคิดว่าเป็นคนแปลกหน้า ลืมเส้นทางเดิม ๆ ที่เคยใช้เป็นประจำทุกวัน
  2. พฤติกรรมเปลี่ยนไป ถามคำถามซ้ำ ๆทั้งที่เพิ่งถามไป วางของผิดที่ผิดทางจนหาของไม่เจอ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติอย่างเช่นการอาบน้ำแต่งตัว สับสนเรื่องเวลา ไม่สนใจสิ่งที่เคยชอบ
  3. สูญเสียทักษะ มีปัญหาเรื่องการพูดการเขียน สะกดคำง่าย ๆ ไม่ได้ เข้าใจอะไรยากขึ้น เช่น การบอกสี การกะระยะทางที่ผิดพลาด มีปัญหาการนับตัวเลข ทอนเงิน รวมทั้งการสูญเสียการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว เช่น จะออกไปข้างนอกแต่ไม่อาบน้ำแต่งตัวให้เหมาะสม เป็นต้น
  4. อารมณ์และการเข้าสังคม มีอาการวิตกกังวล สับสน หวาดกลัวง่าย มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม ไม่อยากพบปะผู้คนและเพื่อนฝูง

สำหรับอาการหลงลืมเพียงชั่วขณะแล้วสามารถจดจำในภายหลังได้ เช่น วางของผิดที่แล้วลืมว่าเอาไปวางตรงไหน แต่สุดท้ายก็ยังเรียกความทรงจำค้นหาของกลับมาเจอได้ หรือลืมเมื่อต้องทำหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน แม้ว่าจะเป็นบ่อย ๆ แต่ก็จัดว่ายังไม่เข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์ เพราะโรคนี้คือหากลืมแล้วจะไม่สามารถจดจำได้เลย อีกทั้งมีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษา

แนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์

  1. การรักษาตามสาเหตุของการเกิดโรค เช่น เกิดจากความผิดปกติของสมองหรือเกิดจากเนื้องอก จะต้องรักษาจุดนั้นให้หายก่อนแล้วอาการหลงลืมถึงจะดีขึ้น
  2. การรักษาด้วยวิธีปรับพฤติกรรม วิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอย่างผสมผสานในบางราย
  3. การรักษาด้วยยา ส่วนใหญ่มักจะเป็นยาปรับสารเคมีในสมองเพื่อช่วยชะลออาการโรคสมองเสื่อมบางชนิด แต่จะไม่ได้ช่วยให้อาการนั้นหายขาดได้

.

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใด ๆ ที่สามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมอย่างชัดเจน แต่เราปฏิบัติตัวเพื่อพัฒนาสมองให้มีความจำที่ดีได้ เช่น หลีกเลี่ยงยาโดยไม่จำเป็นและพฤติกรรมที่ทำร้ายสมองอย่างเช่นการดื่มแอลกอฮอล์ แต่ควรหากิจกรรมฝึกสมองบ่อย ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี และดูแลตัวเองอย่าให้สมองได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือน หากพบว่าเริ่มมีอาการหลงลืมผิดปกติร่วมกับอาการปวดศีรษะ อาเจียน เดินเซ ให้ลองเช็คอาการของตนเองเพราะอาจมีความผิดปกติทางสมองเกิดขึ้นก็ได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top