แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) หรือโรคสมองเสื่อม เป็นภาวะความบกพร่องของระบบการทำงานของสมองที่ถดถอยในเรื่องความคิดความจำและทักษะการใช้เหตุผล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนทำให้พฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป มักเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 – 80 ปี โดยจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่ออายุเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี

.

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

จากงานวิจัยของศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งตีพิมพ์บทความวารสารในหัวข้อ “รับมือ…ภาวะสมองเสื่อม” ในปี 25656 พบว่าสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์มีหลายประการ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม โรคประจำบางโรค ได้แก่ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคซึมเศร้า เป็นต้น รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะหรือสมอง

.

โรคอัลไซเมอร์แบ่งได้กี่ระยะโรค

จากการศึกษาโดยวิธีรวบรวมองค์ความรู้จากเอกสารตำราและประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ พบว่าโรคอัลไซเมอร์แบ่งระยะโรคได้ 3 ระยะ ดังนี้

  • โรคอัลไซเมอร์ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีปัญหาการจดจำข้อมูลที่ไม่สามารถจดจำข้อมูลใหม่ ๆ ได้ เริ่มมีอาการหลงลืม แต่ยังคงสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยเริ่มจากการตัดสินใจช้าลง ไม่มีสมาธิ ทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษาแย่ลง ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ ลืมชื่อบุคคล ลืมปิดประตู ลืมปิดน้ำปิดไฟ เป็นต้น
  • โรคอัลไซเมอร์ระยะปานกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืมมากขึ้น ลืมผู้คน ลืมสถานที่ ลืมสิ่งที่คุ้นเคย อาจจะเริ่มพูดหรือใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ ย้ำคิดย้ำทำ บางรายมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดโมโหง่าย ซึมเศร้า ทำให้แสดงอาการบางอย่างโดนไร้เหตุผล
  • โรคอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง มีอาการหลงผิด เกิดภาพหลอน หลงลืมอย่างรุนแรง เช่น ลืมวิธีการสื่อสาร ไม่สามารถโต้ตอบเป็นภาษาได้ แต่ใช้วิธีตอบสนองด้วยการแสดงอารมณ์ ลืมวิธีรับประทานอาหาร ลืมวิธีเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน และมีอาการอ่อนเพลียจนกระทั่งมวลกล้ามเนื้อลดลง ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้จนเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด

แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นผู้ดูแลจึงทำได้แค่เพียงประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลงกว่าเดิม

  1. กระตุ้นความจำและฝึกสมอง เริ่มจากการเล่าเรื่องในอดีตให้ผู้ป่วยฟัง โดยเน้นเรื่องใกล้ตัวผู้ป่วยอย่างเช่นครอบครัว การงานของผู้ป่วย สิ่งที่ผู้ป่วยชอบ สถานที่ที่เคยไป และหากิจกรรมฝึกสมองเพื่อชะลอความเสื่อมของสมอง เช่น การบวกเลขง่าย ๆ ทายภาพสมาชิกในครอบครัว หรือชวนผู้ป่วยร้องเพลง เป็นต้น
  2. ฝึกการสื่อสารใช้ภาษา ผู้ดูแลควรพูดให้ช้าลง ใช้คำพูดสั้น ๆ เข้าใจง่าย ไม่กำกวม และออกเสียงให้ชัดเจน หมั่นเรียกชื่อผู้ป่วยบ่อย ๆ ประกอบกับใช้ภาษากายหรือสิ่งของประกอบการพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ไม่ตะโกนใส่ผู้ป่วย
  3. ฝึกการดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด เช่น การเข้าห้องน้ำ การอาบน้ำ และการรับประทานอาหาร โดยพิจารณาตามความสามารถของผู้ป่วยเท่าที่จะทำได้
  4. สังเกตและบันทึกพฤติกรรม ผู้ดูแลต้องหมั่นสังเกตผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบ หากพบว่ามีอาการผิดปกติมากกว่าเดิมหรือมีอาการทางจิต เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล และซึมเศร้า เป็นต้น ข้อสำคัญที่สุดคือถ้ามีการใช้ยาร่วมด้วยก็ควรดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
  5. หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดหรือแสดงพฤติกรรมใด ๆ ต้องไม่ทำให้ผู้ป่วยโกรธ เครียด หรือเสียใจ เช่น การตะคอกต่อว่าผู้ป่วย และไม่ควรทำโทษผู้ป่วยโดยเด็ดขาด ถ้าผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวให้สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ไม่โต้เถียงหรือข่มขู่ แต่ควรพยายามเบี่ยงเบนให้ผู้ป่วยสนใจเรื่องอื่นแทน
  6. แจ้งให้ผู้อื่นทราบว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำ โดยให้ผู้ป่วยสวมสร้อยหรือกำไลข้อมือที่ระบุข้อความว่า “ผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำและใส่ช่องทางติดต่อผู้ดูแลหรือญาติ” เพื่อให้ผู้พบเห็นติดต่อได้ หากผู้ป่วยพลัดหลงหรือออกจากบ้านโดยไม่มีใครรู้

.

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจจะต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจที่มากกว่าผู้ป่วยโรคอื่น ๆ แต่เมื่อผู้ดูแลเข้าใจสาเหตุและอาการของโรคแล้ว เพิ่มความอดทนใส่ใจอีกสักนิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ เพราะเขาก็คือคนในครอบครัวที่เรารักนั่นเอง

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top