ผู้ดูแลหลายคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วกลับมารักษาตัวที่บ้าน เชื่อว่าหลายคนยังรู้สึกสับสนหรือไม่มั่นใจว่าจะต้องดูแลอย่างไร โดยเฉพาะอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่จำเป็นต้องมีติดบ้านไว้ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยนั้นเป็นไปอย่างสะดวกและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย แม้ว่าจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวจากอาการป่วยประจำตัวก็ตาม วันนี้เราจะมาทำการ Checklist อุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านว่าควรมีอะไรบ้าง
.
1. เตียงผู้ป่วย
เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียงมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่ผู้ดูแลควรต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ “เตียงผู้ป่วย” ซึ่งขอแนะนำให้เลือกเตียงผู้ป่วยแบบไฟฟ้า เพราะสามารถปรับความสูงทั้งระดับหัวเตียง กลางเตียง และปลายเตียง จัดท่าทางต่าง ๆ ได้ง่ายโดยไม่ต้องออกแรงมาก สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่พอขยับเคลื่อนไหวมือได้ก็สามารถใช้งานเองได้ด้วย และควรเลือกแบบที่มีฟังก์ชันเสริมเพื่อความปลอดภัยอย่างเช่นราวกั้นเตียงและไฟส่องสว่างใต้เตียง เป็นต้น
.
2. ที่นอนโฟมเพื่อป้องกันแผลกดทับ
เป็นอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากโรงพยาบาลหรือสถานดูแลผู้ป่วยจะต้องมีที่นอนป้องกันแผลกดทับ ไม่ว่าผู้ป่วยติดเตียงจะอยู่ในระดับกลุ่มสีใด (ตามอาการ) ก็ตาม เพราะหากเกิดแผลกดทับแล้วมีการติดเชื้อ อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
.
3. รถเข็นสำหรับอาบน้ำและนั่งถ่าย
เป็นอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่สามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อพาผู้ป่วยติดเตียงเข้าห้องน้ำได้ โดยให้ผู้ป่วยนั่งบนเก้าอี้แล้วอาบน้ำกับขับถ่ายได้ จึงช่วยป้องกันการลื่นหกล้มและยังช่วยให้ผู้ดูแลสะดวกต่อการทำความสะอาดอีกด้วย
4. เครื่องดูดเสมหะ
ผู้ป่วยติดเตียงหลายรายที่ไม่สามารถขับเสมหะเองได้ ทำให้เกิดอาการสำลักเสมหะหรือหายใจไม่ออก เพราะฉะนั้นควรเตรียมเครื่องดูดเสมหะให้มีติดบ้านไว้ แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำวิธีการใช้ก่อนนำไปใช้งานจริงกับผู้ป่วย จะได้ใช้อย่างถูกวิธีและไม่เป็นอันตรายนั่นเอง
.
5. รถเข็นผู้ป่วย
รถเข็นผู้ป่วยหรือวีลแชร์ (Wheel Chair) เป็นอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยเพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณต่าง ๆ ได้สะดวกและปลอดภัย เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เดินไม่คล่อง ไม่สามารถทรงตัวได้ หรืออาจถึงขั้นเดินไม่ได้เลย สามารถใช้งานได้ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ยังพอมีกำลังแขนก็สามารถใช้วีลแชร์เองได้ เป็นการส่งเสริมฝึกให้ผู้ป่วยพึ่งพาตัวเองและแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลได้
.
6. โลชั่นแก้ผิวแห้ง
ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่มักพบปัญหาผิวแห้งคันหรือระคายเคือง อันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุเพิ่มมากขึ้น การสูญเสียความชุ่มชื้น ทำให้นอนหลับไม่สบายตัว หลับ ๆ ตื่น ๆ หงุดหงิดอารมณ์ไม่ดี เกาบริเวณที่คันจนกลายเป็นแผล อีกทั้งอาการผิวแห้งนี้ยังนำไปสู่การเกิดแผลกดทับได้ ดังนั้นจึงควรมีโลชั่นสูตรอ่อนโยนที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ไม่แห้งคัน แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าโลชั่นนั้นสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีแผลกดทับได้หรือไม่ หากเป็นไปได้ก็ควรเลือกใช้โลชั่นสูตรออแกนิคที่มีมอยซเจอร์ไรเซอร์เข้มข้นจะส่งผลดีกับผู้ป่วยมากกว่า
.
เราจะเห็นได้ว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นแตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยทั่วไป ด้วยขั้นตอนการดูแลที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องแผลกดทับ อาหารการกินหรือโภชนาการ โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และอุบัติเหตุ การที่เรามีอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเพียบพร้อมในบ้าน จะช่วยอำนวยความสะดวกของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาความเสี่ยงต่าง ๆ และมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีขึ้นได้อีกด้วย