วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านและข้อควรระวังปัญหาผู้ป่วยติดเตียง

การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ คล้ายกับการดูแลผู้ป่วยทั่วไป แต่อย่าลืมว่าผู้ป่วยติดเตียงนั้นไม่สามารถขยับร่างกายของตัวเองได้ หากนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ๆ อาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ วันนี้เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน พร้อมกับ 5 ปัญหาผู้ป่วยติดเตียงที่ควรระวังมาฝากกัน

.

วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงเมื่อต้องดูแลที่บ้าน

เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถดูแลตัวเองและขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลที่จะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยในเรื่องต่าง ๆ ด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวและลดปัญหาความเสี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาได้

  1. การนอน การที่ผู้ป่วยติดเตียงนอนอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เพราะไม่สามารถพลิกตัวเองได้ จะทำให้เกิดแผลกดทับแล้วมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ ดังนั้นผู้ดูแลควรจัดพลิกตัวผู้ป่วยเพื่อเปลี่ยนท่านอนทุก ๆ 2 ชั่วโมง เช่น นอนหงาย นอนตะแคงพลิกซ้าย – ขวา เป็นต้น
  2. การรับประทานอาหาร ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งตรงพร้อมรับประทานอาหาร จากนั้นยังอยู่ในท่าเดิมประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเพื่อให้อาหารย่อยก่อน แต่ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารในท่านอนอาจทำให้สำลักอาหารหรือเกิดอาการปอดอักเสบได้
  3. การดูแลสุขภาพช่องปาก ผู้ดูแลควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อนแปรงฟันผู้ป่วยและให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หรืออาจจะใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำอุ่นพันกับด้ามตะเกียบ เช็ดทำความสะอาดบริเวณภายในช่องปาก
  4. การขับถ่าย ผู้ป่วยติดเตียงที่ใช้สายสวนปัสสาวะเข้าไปในร่างกาย จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นผู้ดูแลควรหมั่นเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะของผู้ป่วยทุก ๆ 2 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายโดยใช้น้ำสบู่อ่อน ๆ ทุกครั้ง

ปัญหาผู้ป่วยติดเตียงที่ผู้ดูแลควรระวัง

ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่มักจะสื่อสารกับผู้ดูแลไม่ค่อยได้ ทำให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องเอาใจใส่และหมั่นสังเกตรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้หรือทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้อยที่สุด

  1. แผลกดทับ เป็นปัญหาหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่ได้พลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโมง ทำให้ผิวหนังรับแรงกดทับจากน้ำหนักตัวจนกลายเป็นแผลกดทับสังเกตได้จากรอยแดงช้ำ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ จะกลายเป็นแผลลึกกว้างขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้
  2. ความสะอาด ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลห้ามละเลย เพราะการทำความสะอาดร่างกายตามปกติและหลังขับถ่าย เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพภายในช่องปากด้วยเช่นกัน เพราะผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ด้วยตัวเอง
  3. การสำลักอาหาร ผู้ป่วยติดเตียงหลายคนมีอาการสำลักอาหารอันเกิดจากปัญหาการกลืนอาหารหรือภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลให้อาหารที่สำลักเข้าไปในทางเดินหายใจนั้นเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดติดเชื้อตามมา เพราะฉะนั้นก่อนป้อนอาหารควรจัดให้ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในท่านั่งก่อนทุกครั้ง
  4. ภาวะสับสน ผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการสมองเสื่อมหรือมีภาวะสับสน สมองจะทำงานได้ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป ทำให้มีพฤติกรรม ความคิด อารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น โมโหง่าย หงุดหงิด ก้าวร้าว หูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดคนเดียว หลงลืม และนอนไม่หลับ
  5. ภาวะปอดแฟบ เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในท่านอนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีลักษณะการหายใจตื้นกว่าคนทั่วไป เมื่อปอดไม่ขยายก็จะเกิดภาวะปอดแฟบแล้วมีอาการหอบเหนื่อยง่าย ดังนั้นผู้ดูแลควรจัดให้ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในท่านั่งช่วงกลางวันบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดแฟบ

.

เราจะเห็นว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอาจจะเหมือนเป็นเรื่องยากและต้องพิถีพิถันมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป แต่ถ้าผู้ดูแลเข้าใจวิธีการอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนและปัญหาต่าง ๆ ได้ ช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีสุขภาพจิตที่ดี

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top