จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีก็มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย แต่ถ้าได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไว้ก่อนจะช่วยลดความเสี่ยงได้พอสมควร เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วันนี้เราจึงมาแนะนำข้อควรรู้ต่าง ๆ ที่ทุกคนอยากรู้กัน
.
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส “อินฟลูเอนซ่า” ซึ่งมีโอกาสกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ใหญ่ ๆ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ บี และซี โดยสายพันธุ์ซีจะมีความรุนแรงน้อยที่สุด สายพันธุ์เอรุนแรงมากที่สุด และสายพันธุ์เอและบีเป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วโลก มักจะระบาดช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว
.
อาการแบบไหนคือเป็นไข้หวัดใหญ่
อาการของไข้หวัดใหญ่จะคล้าย ๆ กับไข้หวัดทั่วไป แต่มีอาการรุนแรงกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้สูงมาก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย บางรายอาจถึงกับปอดบวมกันเลย
.
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไร
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีดที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ เพียงแค่อาการจะลดน้อยลงไม่รุนแรงเหมือนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสร้างขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว
.
อาการข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนใด ๆ ล้วนสามารถเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น มีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว แต่อาการดังกล่าวจะหายเองภายใน 1 – 2 วันหลังฉีดวัคซีน โดยสามารถทานยาลดไข้และใช้ผ้าเย็นประคบบริเวณที่บวมได้
.
สำหรับอาการแพ้วัคซีนนั้นพบได้น้อยมาก ซึ่งถ้าแพ้จริง ๆ จะปรากฏอาการให้เห็นภายใน 2 – 3 นาที หรือ 2 – 3 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน อาการที่พบคือหายใจไม่สะดวก หอบ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หัวใจเต้นเร็ว ลมพิษ หมดสติ หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วจะไม่เป็นหวัดจริงหรือไม่
“เป็นความคิดที่ผิด” เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดทั่วไปที่เกิดจากเชื้อชนิดอื่น ๆ ได้ อีกทั้งฉีดแล้วป้องกันได้ปีต่อปี เนื่องจากเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดแต่ละปีอาจเป็นเชื้อคนละชนิดนั่นเอง
.
ใครควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
วัคซีนป้องกันโรคนี้สามารถฉีดได้เกือบทุกคน แต่จะเน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ได้แก่
- บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคไตวาย และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 ขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
.
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่เหมาะสำหรับใคร
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวกำเริบและควบคุมไม่ได้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผลิตจากไข่ไก่
.
ถ้าเพิ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีที่แล้ว ต้องฉีดซ้ำในปีนี้ด้วยหรือไม่
แม้ว่าเราจะเคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้ก็ต้องฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้นมาปกป้องนั้นอยู่ไม่นาน อีกทั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่มักกลายพันธุ์จึงทำให้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดแต่ละปีไม่เหมือนกัน จึงเป็นเหตุผลที่ควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก ๆ ปี เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง
.
สำหรับคนที่เป็นหวัดเพียงเล็กน้อย มีอาการหวัด คัดจมูก ไอ เจ็บคอ ยังสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ แต่กรณีที่มีไข้ร่วมด้วย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ออกไปก่อนจนกว่าจะหายดี จึงค่อยเข้ารับวัคซีนในภายหลัง