ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ภัยเงียบหน้าร้อนที่ต้องเฝ้าระวัง

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับอากาศร้อนกันเป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตที่มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิในบางจังหวัดพุ่งสูงขึ้นถึง 40 – 43 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดได้ง่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในอันตรายที่มากับหน้าร้อนจนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

.

โรคฮีทสโตรกคืออะไร

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด คือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส และไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายให้ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ สังเกตได้จากอาการปวดศีรษะ มึนงง จนกระทั่งเกิดภาวะชัก หมดสติเพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

.

สัญญาณเตือนของโรคฮีทสโตรก

เมื่ออยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อนจัด ให้หมั่นสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ตัวว่ากำลังมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคฮีทสโตรกหรือไม่

  • ไม่มีเหงื่อออกทั้งที่อากาศร้อน
  • ตัวร้อนจัด หน้าแดง
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน หายใจเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน
  • รู้สึกกระหายน้ำมาก
  • หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ
  • รู้สึกสับสน มึนงง เห็นภาพหลอน

.

ถ้าพบว่ามีอาการเหล่านี้ต้องรีบหยุดพักทันทีแล้วหาสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายโดยเร็วที่สุด หากฝืนตัวเองจะทำให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อ มีอาการชัก หมดสติ อาจถึงกับหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก

ปกติเรามักจะหาวิธีคลายร้อนด้วยการทำให้บรรยากาศรอบตัวเย็นสบาย แต่การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจะช่วยลดผลกระทบต่อการปรับอุณหภูมิของร่างกายได้ โดยมีแนวทางปฏิบัติการดูแลตัวเองช่วงหน้าร้อนดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด จริงอยู่ว่าการดื่มน้ำเย็น ๆ หรือทานน้ำแข็งจะช่วยให้ร่างกายคลายร้อนได้อย่างรวดเร็ว แต่จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด ปวดศีรษะ หรือเป็นลมได้ อีกทั้งการดื่มน้ำเย็นปริมาณมาก ๆ จะทำให้หลอดลมหดตัวอย่างรุนแรงจนเกิดอาการไอหรือหอบได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำที่ไม่เย็นมากหรือดื่มน้ำอุณหภูมิห้องดีกว่า
  2. ทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ช่วงหน้าร้อนระบบการย่อยอาหารจะทำงานลดลงเพราะอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ดังนั้นเลือกทานอาหารอ่อน ๆ หรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็นและมีน้ำเป็นส่วนประกอบสูง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของมันของทอดหรือมีฤทธิ์ร้อน เพราะจะทำให้เป็นร้อนในและเจ็บคอได้
  3. ดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ผ่อนคลาย ร่างกายของเราจะสูญเสียน้ำในช่วงหน้าร้อนค่อนข้างมาก จึงควรชดเชยน้ำที่สูญเสียไปด้วยการดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยบำรุงหัวใจ ตับ และไต เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำบ๊วย เป็นต้น
  4. นั่งพักในที่ลมโกรก ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชอบการนั่งตากลมที่เครื่องปรับอากาศหรือหน้าพัดลม แต่ถ้าเราปล่อยให้ลมโกรกเวลาเหงื่อออก จะทำให้อุณหภูมิบริเวณผิวหนังลดต่ำทั้งที่อุณหภูมิภายในร่างกายยังสูง ทำให้ร่างกายสะสมความร้อนจนทำให้ไม่สบายได้
  5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วงกลางวันของหน้าร้อนจะยาวนานกว่ากลางคืน ทำให้เรานอนน้อยกว่าปกติและนอนไม่สบายตัว ดังนั้นลองเปลี่ยนผ้าปูที่นอนเป็นผ้าไหมหรือผ้าทอแบบซาติน และใช้ที่นอนแบบกักเก็บความเย็น ก็จะช่วยให้นอนสบายตัวและรู้สึกเย็นขึ้น

.

โรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดสามารถป้องกันได้ แต่หากเริ่มรู้สึกว่าไม่สบายตัวหรืออ่อนเพลียจากอากาศร้อน ถือว่ายังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นควรหาวิธีลดอุณหภูมิของร่างกายอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้อาการเป็นมากขึ้นกว่าเดิม

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top