ผู้ป่วยติดเตียงมักจะประสบปัญหาแผลกดทับ (Bed sore หรือ Pressure sore) ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคมะเร็งระยะสุดท้าย หรืออุบัติเหตุที่ทำให้ต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ก่อให้เกิดแผลกดทับที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ด้านหลังศีรษะ กระดูกสันหลัง สะโพก และส้นเท้า เป็นต้น จึงจำเป็นต้องทำแผลกดทับให้หาย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่แผลกดทับให้ผู้ป่วยรู้สึกบรรเทาอาการน้อยลง
.
ระดับต่าง ๆ ของแผลกดทับ
- แผลกดทับระดับที่ 1 ผิวหนังมีอาการเป็นรอยแดงและมีรอยช้ำเล็กน้อย โดยสามารถสังเกตลักษณะนี้ได้ด้วยสายตา กรณีที่ผู้ดูแลพลิกตัวผู้ป่วยให้นอนตะแคงแล้วรอยแดงนั้นไม่จางหายภายใน 30 นาที ให้สันนิษฐานว่ารอยแดงนั้นเป็นแผลกดทับระยะเริ่มต้น
- แผลกดทับระดับที่ 2 ผิวหนังมีลักษณะฉีกขาด ชั้นผิวหนังถูกทำลายหรืออาจมองเห็นแผลตื้น ๆ ในชั้นผิว เรียกว่าระยะแผลงอกขยาย
- แผลกดทับระดับที่ 3 ชั้นผิวหนังถูกทำลายในระดับลึกลงไปถึงผิวหนังชั้นใน แต่ยังไม่ถึงกระดูกและยังไม่กลายเป็นพังผืดหรือเอ็นยึดกล้ามเนื้อ
- แผลกดทับระดับที่ 4 เป็นแผลกดทับที่มีระดับความรุนแรงมาก โดยมีความลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ กระดูก หรือโครงสร้างของร่างกาย
วิธีทำความสะอาดแผลกดทับในระดับต่าง ๆ
เมื่อเราทราบเกี่ยวกับระดับต่าง ๆ ของแผลกดทับแล้ว สิ่งสำคัญในขั้นต่อไปของการดูแลแผลกดทับคือความสะอาด ซึ่งหมายถึงการทำความสะอาดแผลกดทับ อุปกรณ์ทำแผลต้องสะอาดปลอดเชื้อ และควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังทำแผลด้วยเช่นกัน
- การทำแผลกดทับระดับที่ 1 ผู้ดูแลควรพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 2 ชั่วโมง และใช้น้ำเกลือล้างแผลทำความสะอาดผิวหนังรอบ ๆ แผล เมื่อสังเกตเริ่มเห็นรอยแดงบนผิวหนังหรือจุดที่ผู้ป่วยนอนกดทับเป็นเวลานาน รวมทั้งควรหาวิธีป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดแผลกดทับ โดยอาจจะใช้ที่นอนลมหรือห่วงยางรองนั่งเพื่อป้องกันแผลกดทับ
- การทำแผลกดทับระดับที่ 2 เป็นระดับที่เรียกว่าระยะแผลงอกขยาย ผู้ดูแลต้องล้างมือให้สะอาดก่อนทำแผล จากนั้นใช้น้ำเกลือล้างแผลทำความสะอาดแผลและบริเวณรอบ ๆ แผล จึงค่อยปิดแผลด้วยผ้าก๊อซปิดแผลหรือแผ่นแปะสำหรับแผลกดทับ
- การทำแผลกดทับระดับที่ 3 เป็นแผลที่มีน้ำเหลืองหรือสารคัดหลั่งที่ปนอยู่ในแผลด้วย ดังนั้นควรใช้น้ำเกลือล้างแผลก่อนแล้วจึงค่อยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผลล้างให้ถึงโพรงแผล จากนั้นใช้ผ้าก๊อซปิดแผลหรือแผ่นเจลปิดแผลกดทับเพื่อปิดแผลอีกครั้ง
- การทำแผลกดทับระดับที่ 4 ควรต้องล้างแผลทุกวันและวันละ 2 ครั้ง โดยใช้น้ำเกลือล้างแผลแล้วตามด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ กรณีที่แผลกดทับมีลักษณะเป็นบริเวณกว้างและลึกมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่เชี่ยวชาญการดูแลแผลกดทับแบบต่าง ๆ
.
การดูแลแผลกดทับในแต่ละบุคคลจะมีวิธีการและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนที่ผู้ป่วยติดเตียงจะกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน แพทย์หรือพยาบาลจะแนะแนววิธีดูแลและการทำความสะอาดแผลกดทับของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตัวผู้ป่วยมากที่สุดด้วย
.
ทั้งนี้นอกจากผู้ดูแลจะต้องดูแลเรื่องการรักษาความสะอาดของตัวผู้ป่วยติดเตียงแล้ว ควรหันกลับมาดูแลสุขอนามัยของตัวผู้ดูแลเองด้วยเช่นกันให้มีสุขภาพกายและใจแข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนและหลังทำแผลกดทับให้ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของแผลกดทับให้เป็นหนักมากขึ้น