เคยเป็นกันไหม ออกกำลังกายหนักจนต้องกายภาพบำบัด
การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายที่หนักเกินกำลังที่สามารถรับได้ และการออกกำลังกายด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมกับสรีระของตัวเอง อาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน มีความเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแบบไม่สามารถหายเองได้ จึงควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ด้วยการทำกายภาพบำบัด
โทษของการออกกำลังกายหนักจนเกินไป
อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย แต่ก็ไม่ควรลืมว่า ร่างกายของคนเรานั้นมีปัจจัยสำคัญที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศ อายุ หรือโรคประจำตัว เป็นต้น การออกกำลังกายที่ผิดวิธี หรือหนักจนเกินไป จึงสามารถให้โทษแก่ร่างกายเราได้ด้วยเหมือนกัน เช่น
- อาการเจ็บปวดเรื้อรังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ เกิดการอักเสบเฉียบพลัน
- กระดูกหัก ข้อเคลื่อน ข้อหลุด เนื่องจากอุบัติเหตุจากการออกกำลังกาย
- ภาวะ Overtraining Syndrome เป็นภาวะที่มักเกิดกับผู้ที่ออกกำลังกายหนักจนเกินไป รวมไปถึงกลุ่มนักกีฬาอีกด้วย เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการฝึกซ้อมกีฬา การออกกำลังกายมากเกินความพอดี พักผ่อนไม่เพียงพอ ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และความเครียดสะสม ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หอบ เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร และทำให้สมรรถภาพในการออกกำลังกายลดลงอย่างชัดเจน
กายภาพบำบัด สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายหนักเกินไป
การทำกายภาพบำบัดเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ จากภาวะการออกกำลังกายหนักเกินไป เพราะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง และยังสามารถแก้ไขปัญหาความเจ็บปวดและอาการอักเสบของกล้ามเนื้อได้อย่างตรงจุดอีกด้วย ซึ่งมี 2 วิธีที่น่าสนใจ คือ
1. เลเซอร์เย็น
เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ โดยใช้เลเซอร์เย็นเพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสประสาทที่ทำหน้าที่รับความเจ็บปวดส่งไปที่สมอง จึงสามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้ดี ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้โดยตรง ทำให้ลดอาการบวม และการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. อัลตร้าซาวน์
เป็นเทคโนโลยีที่นิยมนำมาใช้กายภาพบำบัด ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดจากการเล่นกีฬา โดยเป็นคลื่นเสียงความถี่สูง ที่จะนำคลื่นความร้อนส่งลึกเข้าไปในชั้นผิวเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เกิดความเสียหาย และช่วยลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดจากการออกกำลังกายหนัก ก็มีอีกหลากหลายวิธี ซึ่งนักกายภาพจะเลือกใช้วิธีที่ช่วยแก้อาการได้อย่างถูกต้อง และอาจจะใช้หลายวิธีร่วมกันก็เป็นไปได้ ทั้งนี้การออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง จึงควรเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสมรรถภาพของตัวเอง ทำอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรวอร์มยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังออกกำลังกายทุกครั้ง