โดยปกติแล้ว อาการนิ้วล็อกจะเป็นโรคที่มักพบในกลุ่มวัยกลางคน แต่ในปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน เนื่องจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ที่ใช้งานนิ้วมือหนักจนเกินไป ในการเกร็ง กำ งอ และเหยียดนิ้วซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การใช้สมาร์ตโฟน เมาส์ และคีย์บอร์ด เป็นต้น จึงส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อกตามมา หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเข้ารับการรักษากายภาพบำบัด อาการก็จะรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
รู้หรือไม่ อาการนิ้วล็อก มี 4 ระยะ
เมื่อใช้งานนิ้วมือหนักจนเกินไป กลายเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสาเหตุให้เอ็นนิ้วมือของคุณเกิดการเสียดสีรุนแรง จนไปขัดกับปลอกหุ้มเส้นเอ็น ทำให้เกิดอาการของโรคนิ้วล็อกตามมา นอกจากนี้โรคนิ้วล็อกยังสามารถเกิดได้จากความเสื่อมของเซลล์ และผลกระทบจากโรคเบาหวาน และโรครูมาตอยด์อีกด้วย ซึ่งอาการของโรคนี้ มีทั้งหมด 4 ระยะด้วยกัน
ระยะที่ 1 เริ่มแรกนิ้วจะยังไม่มีอาการล็อก
สามารถกำและแบมือได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่จะรู้สึกฝืด และสะดุดเล็กน้อยเวลางอนิ้วมือ และมีอาการปวดตึงร่วมด้วย
ระยะที่ 2 เริ่มรู้สึกถึงอาการนิ้วล็อก
งอและเหยียดนิ้วมีอาการสะดุด อาจมีเสียงดังเวลากำมือและแบมือ แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้ตามปกติ และจะเริ่มมีอาการปวดที่โคนนิ้ว
ระยะที่ 3 ได้ยินเสียงดังเวลากำและแบมืออย่างชัดเจน
สังเกตได้ว่าจะไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ จนต้องใช้มืออีกข้างมาช่วยเหยียดออก และที่สำคัญจะมีความรู้สึกปวดที่โคนนิ้วมากขึ้น
ระยะที่ 4 ได้ยินเสียงดังเวลากำและแบมืออย่างชัดเจน
นิ้วมือจะล็อกจนส่งผลในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของ หรือเขียนหนังสือได้ตามปกติ อาการที่เป็นคือ นิ้วมือจะล็อกอยู่นาน ไม่สามารถงอ หรือเหยียดได้ตามที่ใจต้องการ
ซึ่งระยะที่ 4 นี้ อาจมีความรุนแรงทำให้ข้อนิ้วล็อกจนขยับนิ้วมือเพื่อเปลี่ยนท่าทางไม่ได้เลย จำเป็นต้องทำการผ่าตัด เพื่อกรีดผ่าปลอกหุ้มเอ็น
การรักษาทางกายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยนิ้วล็อก
สำหรับผู้ป่วยนิ้วล็อกที่มีอาการในระยะแรก ๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการประเมินพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับนิ้วมือ เพื่อแนะนำวิธีการดูแลตัวเอง การบริหารนิ้วมือ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง เพื่อให้เอ็นข้อมือของคุณแข็งแรง และหากได้ทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย จะช่วยให้หายขาดจากอาการนี้ได้ในระยะยาว ซึ่งทำได้ดังนี้
1. การประคบ และบริหารนิ้วมือ
เป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับอาการนิ้วล็อกระยะแรก ด้วยการประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ ร่วมกับการบริหารนิ้วมือ ด้วยการให้งอและเหยียดนิ้วช้า ๆ เพื่อฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้นิ้วมือไปในตัว
2. พาราฟินบำบัด
พาราฟินเป็นไขสีขาว คล้ายขี้ผึ้ง มีจุดหลอมเหลวที่ 47-64 องศาเซลเซียส ทำให้มีอุณหภูมิอุ่น เป็นผลดีต่อการบำบัดลดอาการปวดและตึงที่ข้อต่อ และยังมีข้อดีเรื่องการให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังได้อีกด้วย โดยการให้ผู้ป่วยจุ่มมือลงไปในพาราฟินบำบัด จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และอาการปวดจะค่อย ๆ ลดลง
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ หวังว่าคุณจะรีบสังเกตอาการของตัวเอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถนอมการใช้นิ้วมือกันมากขึ้น เพื่อไม่ให้อาการนิ้วล็อกรุนแรงไปถึงระยะสุดท้าย หากมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย หากอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ